1.ตรวจสอบวัน เวลา และสถานที่นัดสัมภาษณ์
อันนี้เป็นสิ่งแรกที่จำเป็นจะต้องตรวจสอบเลย เพราะจะได้วางแผน จัดตารางการเตรียมตัวให้ถูก ที่สำคัญ อย่าลืมวงกลมตัวใหญ่ๆบนปฎิทินเลยล่ะ
2.ศึกษาเส้นทางการเดินทาง
อย่างที่รู้กันดีว่าการเดินทางในบ้านเรานี้ค่อนข้างจะลำบาก รถก็ติด ถ้ากะเวลาผิดมีหวังไปสายแน่นอน ดังนั้นเราควรศึกษาเส้นทางให้ดี จะได้กะเวลาการเตรียมตัว และเดินทางและไปให้ตรงเวลา ทางที่ดีไปก่อนเวลาสักหน่อยก็คงจะดีไม่น้อย
3.ค้นคว้าข้อมูลของมหาวิทยาลัยและคณะที่เลือกไว้
อันนี้เป็นการเตรียมรับมือกับคำถามที่ว่า “ทำไมถึงอยากเรียนที่นี่” การรู้เรื่องราวของคณะและมหาวิทยาลัยที่น้องเลือกไว้นั้น แสดงถึงความสนใจต่อคณะที่เลือก อีกทั้งยังเป็นการรวบรวมข้อมูลไว้สนับสนุนถึงเหตุผลที่เราเลือกเรียนที่นี่
4.ลองทำสรุปการเรียนและกิจกรรมทั้งในและนอกรั้วโรงเรียนที่เคยทำ
กิจกรรมเหล่านี้นอกจากจะสรุปลงพอร์ตแล้ว ควรสรุปให้เป็นคำพูดเพื่อเสนออาจารย์ที่สอบสัมภาษณ์ ให้เราเลือกแต่รายการเด่นๆที่น่าสนใจ เช่น กิจกรรมที่เคยทำ ได้เรียนรู้อะไรกลับมาบ้าง ให้กระชับและได้ใจความมากที่สุด
5.ลิสต์รายการคำถามที่อยากถาม
ข้อนี้อาจไม่ได้สำคัญสักเท่าไหร่ แต่เผื่อไว้ในกรณีที่อาจารผู้สัมภาษณ์เปิดโอกาสให้ถามเกี่ยวกับสิ่งที่อยากรู้ ซึ่งกรณีนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสนใจต่อคณะที่น้องๆอยากเรียน ส่วนตัวคำถามนั้นควรเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบในเว็บไซต์ต่างๆ เพราะจากที่จะดูเป็นคนกระตือรือร้นจะกลายเป็นคนที่ไม่ใส่ใจแทน
6.เตรียมเอกสารสำคัญให้เรียบร้อย
ข้อนี้เป็นอีกข้อที่สำคัญสุดๆ เพราะหากลืมเอกสารสำคัญแล้วอาจทำให้เสียเวลาไปเอามาหรือถ้าไม่ทันก็ทำให้เสียคะแนนความประทับใจไปแน่นอน
7.ฝึกสอบสัมภาษณ์
ข้อสุดท้ายนี้เป็นการเสริมความมั่นใจ เพราะถ้าน้องๆเป็นคนที่มักจะประหม่าหรือตื่นเต้นจะทำอะไรไม่ถูก การเตรียมตัวฝึกไว้ก็สามารถช่วยได้เป็นอย่างดีเลย
ยังไงก็ตาม ถ้าหากน้องๆพร้อมแล้ว ก็ไม่ต้องกลัวอะไรไป โชว์ของดีให้อาจารย์สอบสัมภาษณ์เห็น สร้างความประทับใจให้มาก ประตูมหาวิทยาลัยก็เปิดรอรับให้น้องๆได้เดินเข้าอย่างแน่นอน