ทปอ.แนะ เตรียมสอบสัมภาษณ์ TCAS 62 ยังไงให้ผ่านฉลุย

ผ่านพ้นไปแล้วกับการรับสมัคร TCAS62 รอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) ของหลายๆมหาวิทยาลัย น้อง ๆ คงจะตั้งตารอการประกาศผลในวันที่ 28 มกราคม 2562 ที่จะถึงนี้ แต่ก่อนจะถึงวันนั้น น้องๆ ยังมีเรื่องสำคัญที่ต้องโฟกัส นั่นคือ การเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบสัมภาษณ์นั่นเอง วันนี้พี่มีบทความดีที่น้องๆ ต้องรู้มาบอกต่อ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในวันสอบสัมภาษณ์ได้ จากพี่ก๊อง ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ) มาฝาก ไปดูกันเลยจ้า

ทปอ.แนะ เตรียมสอบสัมภาษณ์ TCAS 62 ยังไงให้ผ่านฉลุย
First Impression สร้างความประทับใจตั้งแต่แรกเจอ
วินาทีแรกของการปรากฎตัวในห้องสอบสัมภาษณ์เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ถ้าน้องๆ ความประทับใจแรกได้ดี มีกิริยามารยาทอ่อนน้อม แต่งกายในชุดนักเรียนที่สุภาพเรียบร้อย ยิ้มแย้มทักทาย น้อง ๆ ก็เหมือนคะแนนจิตพิสัยที่น้อง ๆ จะได้ติดตัวตั้งแต่ยังไม่เริ่มบทสนทนานั้นเอง ดังนั้น ตอนนี้ยังมีเวลาไปซ้อมใหญ่กับหน้ากระจก สำรวจจุดบกพร่องของตนเอง และวิธีนี้ยังช่วยลดความเครียด ความกังวลใจต่าง ๆ  ให้สามารถรับมือกับสถานการณ์จริงได้อย่างคล่องแคล่ว 



ต้องนำแฟ้มตัวจริงไปด้วยหรือไม่

เชื่อว่าน้องๆ หลายคนยังคงมีคำถามคาใจ ว่าในวันสอบสัมภาษณ์จำเป็นต้องหอบแฟ้มตัวจริงไปด้วยหรือไม่ คำตอบคือ ไม่จำเป็น เพราะก่อนที่น้อง ๆ จะถูกเรียกให้ไปสอบสัมภาษณ์  แฟ้มที่เราได้ส่งไปตั้งแต่ช่วงรับสมัคร จะถูกพิจารณาอย่างรอบคอบว่าน้อง ๆ คนไหนที่มีความน่าสนใจ และน่าจะเหมาะกับการเรียนที่สาขานั้น ๆ แต่บางสาขาที่กำหนดให้นำเสนอผลงานตามโจทย์ ในวันสอบสัมภาษณ์ น้อง ๆ อาจจะต้องทดสอบให้เห็นฝีมืออีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าผลงานนั้นเป็นของน้อง ๆ จริง เช่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  คณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นต้น 



ตอบให้น่าสนใจ มั่นใจ และมีไหวพริบ
เทคนิคการตอบคำถาม และไหวพริบในการพูดคุย โดยเล่าจากความเข้าใจและไม่ต้องท่องจำ ตอบคำถามอย่างเป็นธรรมชาติ จะช่วยสร้างความแตกต่าง และทำให้น้อง ๆ มีโอกาสได้รับการคัดเลือกในการสอบสัมภาษณ์ ดังนั้น การแนะนำตัวเองให้น่าสนใจ จะต้องทำให้เข้าใจสิ่งที่เรากำลังสนใจ สิ่งที่อยากเรียน อาชีพในฝัน และต้องสอดคล้องกับสาขาที่เราสมัครด้วย



รางวัลไม่มี แต่ผลงานเด่น ก็เข้าเส้นชัยได้
น้อง ๆ บางคนอาจคิดว่าการสมัครรอบ Portfolio จะต้องเหมาะกับคนที่เหมารางวัลมาแล้วทุกเวทีเท่านั้น แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ความตั้งใจเป็นสิ่งที่สำคัญ และเป็นสิ่งที่สาขาต่าง ๆ อยากเห็นความฝัน ความมุ่งมั่นตั้งใจ ซึ่งผลงานของน้องบางคนอาจทำให้คณะกรรมการเกิดความสนใจได้มากกว่าถ้วยรางวัลจากเวทีต่าง ๆ แต่ผลงานนั้นได้สะท้อนแรงบันดาลใจของน้อง ๆ ที่ต้องการจะมาเรียนในสาขานี้เพื่อนำความรู้ไปต่อยอด และสามารถสานฝัน เติมเต็มไอเดียของน้อง ๆ ให้สำเร็จได้ เท่านี้น้อง ๆ ก็มีโอกาสไม่ต่างกับคนที่ได้รางวัลจากการประกวดมามากมาย


 
เตรียมคำถามที่อยากถามเพื่อสะท้อนไหวพริบของตัวเอง
ช่วงท้ายสำหรับสอบสัมภาษณ์มักจะมีคำถามที่ทำให้น้อง ๆ หลายคนประหลาดใจ คือ การให้ถามกลับว่าน้อง ๆ  มีคำถามอะไร ที่อยากถามหรือไม่ คำถามนี้ มักมีเพื่อวัดความสนใจของน้อง ๆ ที่มีต่อสาขาที่สมัคร โดยน้อง ๆ อาจถามไปกลับไปในสิ่งที่อยากรู้เกี่ยวกับสาขานั้น ๆ ซึ่งต้องเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ข้อมูลที่หาอ่านได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต เช่น บรรยากาศในการเรียน วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันของรุ่นพี่รุ่นน้อง แนวทางการศึกษาต่อ หรือแนวทางการประกอบอาชีพ ว่าตรงกับสาขาที่อยากเรียนหรือไม่ แต่การถามต้องไม่ยาวจนเกินไป เอาให้กระชับแต่พองาม
 


 
ขอบคุณข้อมูลจาก : ส่วนประชาสัมพันธ์ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)
 

ปรึกษาทักพี่แอดมินได้ที่ https://www.facebook.com/TCASportfolio/inbox